ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เปิดจวนฯ

ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เปิดจวนให้ผู้นำเกษตรกรและนักเรียนเข้าศึกษาดูงาน หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา

วันที่ 3 ตุลาคม 2562 เวลา 11.00 น. ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้เปิดจวนผู้ว่าราชการจังหวัดให้แกนนำเกษตรกร และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 วัดชัยมงคล เข้าศึกษาเรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา   ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองได้ปฏิบัติและจัดทำขึ้นภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง มีทั้งการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ การทำน้ำหมักไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ และการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียน       โดยมีนายไพบูลย์ ศุภบุญ นายอำเภอโพธิ์ทอง นายวิวัฒน์ชัย พันวา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดอ่างทอง นางสาวจิระภาโพธิ์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอ่างทอง คอยให้คำแนะนำกับเกษตรและนักเรียนที่เข้ามาชมหลักเศรษฐกิจพอเพียงในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง

ซึ่งในวันนี้นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดอ่างทอง และนางสาวจิระภา โพธิ์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอ่างทอง ได้มีการติดตั้งการวางระบบเพาะพันธุ์ปลาในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งมีการสาธิตการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้นำเกษตรกรและนักเรียนที่เข้าชม ซึ่งได้ลงมือปฏิบัติเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การชั่งปลา การฉีดยาปลา และการปล่อยปลาลงในบ่อพักผสมพันธุ์

นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า สำหรับในวันนี้ทางประมงจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอ่างทอง  ได้วางระบบการเพาะพันธุ์ปลาไว้ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง ซึ่งเป็นนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่มีพ่อเมืองเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา

ทางด้านนายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่ผู้นำเกษตรกรและนักเรียน ได้เข้ามาศึกษาดูงานภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งภายในจวนฯนั้น ตนเองได้การปลูกพืชผักสวนครัวไว้มากมายที่สามารถนำมารับประทานได้ เช่น พริก มะเขือ มะละกอ ใบโหระพา ใบกระเพรา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่ไข่ซึ่งมีไข่ไว้กินทุกวัน และไก่พื้นเมือง โดยทำเป็นกรงตาข่ายให้ไก่สามารถวิ่งออกกำลังกายได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการเลี้ยงสัตว์ก็มีการทำน้ำหมักไว้ใช้เองเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ที่ปลูก ซึ่งทำแบบง่ายๆโดยนำขยะมาหมักในถังที่เตรียมไว้โดยมีตาข่ายลองเศษขยะเหล่านั้น และทำที่เปิดเป็นก๊อกน้ำ สามารถนำมาผสมน้ำรดต้นไม้ได้และปลอดสารพิษด้วย ซึ่งตนเองถือว่าสิ่งที่ตนเองทำทุกวันนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก มีมากแบ่งปัน เหลือแจกก็นำไปขาย นั่นคือ ความสุขที่แท้จริง ซึ่งการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา ได้ดำเนินการมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่า มีข้าราชการ และเกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างดี

นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามศาสตร์พระราช คือ องค์ความรู้ของพระราชา (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ที่ทรงช่วยเหลือปวงชนชาวไทย เป็นการวางแนวทาง แนวคิดทฤษฎี และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ ขั้นตอนการทรงงาน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนของพระองค์ท่าน เช่น โครงการฝนหลวงแก้ฝนแล้ง โครงการแก้มลิงแก้น้ำท่วม โครงการแกล้งดิน เหล่านี้เป็นต้น วิธีการของศาสตร์พระราชา คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา การเข้าใจ หมายถึง การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ การทดลองจนได้ผลจริงก่อน เข้าถึง หมายถึง การระเบิดจากข้างในเข้าใจกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา และพัฒนา หมายถึง การพัฒนาที่ประชาชนเริ่มต้นด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองได้ และมีต้นแบบในการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้เรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป.

 

About the author
เฉลิมศักดิ์ บุญประคอง
บรรณาธิการข่าว บริษัท อ่างทองเคเบิลทีวี จำกัด