โครงการปล่อยน้ำเข้านาปล่อยปลาเข้าทุ่ง

อ่างทองเดินหน้า ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ตามโครงการปล่อยน้ำเข้านาปล่อยปลาเข้าทุ่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรหลังการปรับเปลี่ยนปลูกข้าวเหลื่อมเวลา

วันนี้ ( 26 กันยายน 2562) ณ ทุ่งไผ่ดำพัฒนา อ.วิเศษชัยชาญ และทุ่งรำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง  นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 150,000 ตัว ตามโครงการส่งเสริมการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยแบบครบวงจร “ ปล่อยน้ำเข้านาปล่อยปลาเข้าทุ่ง ” โดยมี นายปริญญา เขมะชิต นายอำเภอวิเศษชัยชาญ พร้อมด้วยนายวิวัฒน์ชัย พันวา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง  นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดอ่างทอง  นายสำรวย ฉิมฉวี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ดำพัฒนา ข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่ร่วมปล่อยปลา

ด้าน นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดอ่างทอง  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบอุทกภัยซ้ำซาก และเป็นการจัดระบบการปลูกข้าวให้ได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวให้ทันต่อกำหนดการเปิดพื้นที่เป็นพื้นที่รับการระบายน้ำ ซึ่งเป็นช่วงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง มีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยให้กรมชลประทานช่วยจัดสรรน้ำและจัดส่งน้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้เพียงพอในการปลูกข้าว คือ ให้เกษตรกรปลูกข้าวต้นเดือนเมษายน และเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จไม่เกิน 15 กันยายนของทุกปี

หลังจากนั้น จะใช้พื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเป็นทุ่งรับน้ำ หรือใช้เป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยทุ่งป่าโมก เป็น 1 ในจำนวน 12 ทุ่ง ของพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะทำการกระจายน้ำเข้าทุ่งประมาณ 3 เดือน เพื่อปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเข้าทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการประมงสร้างอาชีพเสริมมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการปล่อยพันธุ์ปลายี่สกเทศ จำนวน 150,000 ตัว เข้าทุ่งป่าโมก ที่มีพื้นที่รับน้ำ 20,854 ไร่ปริมาณน้ำ 50 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเติบโตให้เกษตรกรทำการจับสัตว์น้ำในช่วงเดือนธันวาคม

นายเรวัต ประสงค์  ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จังหวัดอ่างทอง มีนโยบายปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา พร้อมจัดระบบให้ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้งเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยและเปิดพื้นที่เป็นทุ่งรับน้ำ ได้แก่ ทุ่งไผ่ดำพัฒนา อ.วิเศษชัยชาญ และทุ่งรำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งห้วงระยะเวลาดังกล่าว หลังเก็บเกี่ยวข้าวในนา จะพบว่ามีเศษอินทรีย์วัตถุ เช่น ตอซัง ฟางข้าว และเมล็ดข้าวร่วง ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีสำหรับพันธุ์ปลาในทุ่งรับน้ำ ดังนั้น เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทุ่งรับน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงฤดูน้ำหลาก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง ในช่วง 2 เดือนนี้ จะเป็นช่วงที่เกษตรกรไม่ได้ทำนา จะมีอาชีพเสริม มีรายได้อีกด้วย..

 

About the author
เฉลิมศักดิ์ บุญประคอง
บรรณาธิการข่าว บริษัท อ่างทองเคเบิลทีวี จำกัด