เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง

จังหวัดอ่างทองประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง เน้นวิธีการปรับเปลี่ยนระบบปลูกข้าวเหลื่อมเวลา ปล่อยน้ำเข้านา เอาปลาเข้าทุ่ง   

วันที่ 24 กันยายน 2562 เวลา 07.30 น. ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (หลังใหม่) นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง มีนายประมวล มุ่งมาตร นายรัฐฐะ สิริธรังศรี  รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการประชุม

สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามแนวสั่งการของนายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ในการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทองแนวทางการดำเนินวิธีการปรับเปลี่ยนระบบปลูกข้าวเหลื่อมเวลา ซึ่งปัญหาที่ทาง เกษตรจังหวัดอ่างทองได้แจ้งกับที่ประชุมประกอบด้วย ปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูร้อน โดยทางจังหวัดอ่างทองได้มีหนังสือประกาศเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบปลูกข้าวเหลื่อมเวลาจังหวัดอ่างทองร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้วคือ ในฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี (รอบที่ 1)และฤดูนาปรัง (รอบที่2) ดังนี้ 1.รอบการปลูกข้าวนาปี เริ่มปลูกวันที่ 20 เมษายน ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม  เก็บเกี่ยววันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 15 กันยายน  และ2. รอบการปลูกข้าวนาปรัง เริ่มปลูกวันที่ 20 ธันวาคม – 20 มกราคม เก็บเกี่ยววันที่ 15 มีนาคม – 15 เมษายน สำหรับการใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวอายุ 110-120 วัน การจัดสรรน้ำและการส่งน้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จัดสรรน้ำและจัดส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายเพียงพอในการปลูกข้าวตามระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา และเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ทางจังหวัดอ่างทองยังได้จัดโครงการการปล่อยน้ำเข้านา เอาปลาเข้าทุ่ง ซึ่งได้ดำเนินการเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 30 พฤศจิกายน โดยสำนักงานประมงจังหวัด ซึ่งได้จัดหาพันธุ์ปลาโตเร็วมาปล่อยในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งจังหวัดอ่างทองได้เริ่มกระจายน้ำเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ระดับน้ำประมาณ 50-80 เซนติเมตร โดยไม่ท่วมถนน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว

ทางด้านนายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ เพื่อเป็นการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง ซึ่งตนเองได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป เช่น เรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบปลูกข้าวเหลื่อมเวลา การปล่อยน้ำเข้านา เอาปลาเข้าทุ่ง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือการบริหารจัดการน้ำโดยให้แนวคิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปต้องให้มีพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีพื้นที่เท่ากัน เพื่อจะได้บริหารจัดการได้เต็มรูปแบบ หากทำได้ก็จะเกิดประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ลดการเผาตอซัง ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมเพิ่มความชุ่มชื้นของดิน และดินได้ฟักตัวเกิดความอุดมสมบูรณ์ สามารถลดต้นทุนการผลิตในการใช้ปุ๋ย และลดต้นทุนการผลิตการสูบน้ำเข้านา เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศในนาข้าว อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ที่สำคัญจะเป็นการจัดระบบปลูกข้าวที่มีมาตรฐาน และลดสารเคมีในกระแสโลหิตของเกษตรกรอีกด้วย

 

About the author
เฉลิมศักดิ์ บุญประคอง
บรรณาธิการข่าว บริษัท อ่างทองเคเบิลทีวี จำกัด